(สอนใจดีมาก) จงใช้ชีวิตอย่างคนจน แล้วคุณ..จะไม่มีวันจน

(สอนใจดีมาก) จงใช้ชีวิตอย่างคนจน แล้วคุณ..จะไม่มีวันจน

ใช้ชีวิตแบบคนจนแล้วคุณจะไม่มีวันจน เป็นคำพูดที่คนสมัยก่อนมักใช้สอนลูกหลาน

คนสมัยก่อนจะประหยัด อาจจะเพราะเคยผ่านความลำบากมาก่อน

แต่ที่จริง ก็ไม่น่าจะแบ่งว่าเป็นคนสมัยก่อน หรือสมัยนี้ เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่า

ผู้เขียนเชื่อว่าคนยุคใหม่เอง ก็มีไม่น้อยที่รู้จักใช้เงิน แบ่งเงินเก็บออมไม่จำเป็นว่ามีมากต้องใช้มาก

เพียงแต่ด้วยความที่โลกเราอยู่ในยุคของทุนนิยม ที่เน้นเรื่องของการบริโภคนิยมเป็นที่ตั้ง

ผู้คนเชื่อว่าความสุข จะเกิดขึ้นได้จากการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินหรือเที่ยวก็เลยจัดกันเต็ม

ไม่มีแล้วสำหรับคำว่าลำบากก่อน สบายทีหลัง เพราะต้องการสบายตั้งแต่วันนี้เลย ผู้คนในยุคนี้มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงิน

เพื่อซื้อความสุขมากกว่าคนในอดีต นี่เป็นความจริงที่ทุกคนรู้ดี เพียงแต่บางครั้งเราต้องเหมือนหยุดคิด

หรือมีเบรกตัวเองไว้บ้าง การไปอ่านเจอประโยคที่เป็นข้อคิดหรือคติ

ทำให้เราหยุดหันมาทบทวน พฤติกรร มของตัวเองว่ามีอะไรที่มากหรือน้อยเกินไปแล้วก็ปรับเปลี่ยน

เพื่อให้เกิดความสมดุลมากขึ้น เหมือนอย่างที่ชาวพุทธยึดเรื่องการเดินทางสายกลาง

น่าจะเป็นความสุขที่แท้จริงมากกว่า บางคนที่ยังเรียกตัวเองว่าไม่มีหรือจน

อาจจะเถียงว่า ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบจนก็ถูกบังคับให้ต้องมีชีวิตแบบจนๆ อยู่แล้วล่ะ

ถ้าความคิดเริ่มต้นของคุณเป็นแบบนี้ แสดงว่าคุณไม่รู้ถึงความหมายเบื้องลึก เบื้องหลัง ของข้อความนี้

นำไปคิดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิต มีบางคนบอกว่า เห็นคนเก็บขยะเขากินอาหารถูกๆ

ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ เขาก็ยังคงจนอยู่ ส่วนเจ้าของร้านทอง กินอาหารในภัตตาคาร

ใส่เสื้อผ้าหรู ราคาแพง ก็เห็นเขาก็ยังรวยอยู่ ถ้าคุณคิดแบบนี้ ก็แสดงว่าข้อความนี้

คงไม่มีประโยชน์อะไรที่คุณจะเอาไปคิดต่อได้ ชีวิตคนเราจะแตกต่างกัน

ก็อยู่ที่ทัศนคติในการมองชีวิตที่แตกต่างนี้แหล่ะค่ะ การเปิดกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

มีทัศนคติในเชิงบวกเท่านั้นที่จะทำให้เราก้าวข้ามกำแพงที่มีอยู่ในใจของตัวเราเองได้

ใช้ชีวิตแบบจนแล้วคุณจะไม่มีวันจน การใช้ชีวิตแบบคนจนไม่ได้หมายถึงให้เราต้องไปตกระกำลำบาก

กินอาหารราคาถูก ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ แต่หมายถึงเราต้องรู้จักเลือกกิน เลือกใช้ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่กินทิ้งกินขว้าง

หรือมีข้าวของมากมายเกินความจำเป็น ยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กที่จนเขาไม่มีสิทธิ์เลือกอยู่แล้ว

จานอาหารที่วางตรงหน้า ก็คือสิ่งที่เขาต้องทาน แต่เด็กสมัยใหม่

บางคนสั่งอาหารมาทานไม่หมด ถึงเวลาก็จะอ้อนสั่งอย่างอื่นใหม่

หากอยากสอนลูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็คือต้องทานให้หมดเท่านั้นถึงจะสั่งใหม่ได้

เราต้องรับผิดชอบกับอาหารที่เราสั่งมา เด็กยุคใหม่หลายคนที่นั่งกินข้าวในร้านอาหารตามสั่ง

ไม่ได้มีเยอะมากค่ะ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เหมือนกัน มีเท่าที่จำเป็นก็พอ

แต่บางคนกลับมีรองเท้าตั้งหลายสิบคู่ในคราวเดียวกัน มันดูจะเยอะเกินไป

การอยู่ในสังคม บางครั้งเราก็จำเป็นต้องเห็นเพื่อนร่วมงาน

คือคนร่วมสังคมที่มีฐานะแตกต่างกัน เขาใช้ของแบรนด์เนม ราคาแพง

เราไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาของเหล่านี้ มาเป็นเจ้าของให้ลำบาก เลือกที่จะเป็น

และใช้ชีวิตในแบบของตัวเองที่เหมาะสมกับฐานะ และรายได้ของเรา ไม่สร้างหนี้

แล้วเราก็จะไม่มีวันจนจริงๆ ค่ะ ถึงเราจะไม่ได้มีมากเท่าคนอื่น

แต่มั่นใจได้เลยว่า เราจะไม่จนแน่ๆ การใช้ชีวิตแบบพอเพียง หรือในความหมายแบบจนๆ นี่แหละ

ที่จะบ่มเพาะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวของเราไป เราจะไม่รู้สึกว่าขาดอะไร

แต่เมื่อไหร่ที่เราได้อะไรมาเพิ่ม มันจะเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ ตรงกันข้าม

ถ้าเราใช้ชีวิตเกินๆ อยู่ตลอด ถึงเวลาที่เราต้องขาด มันจะเป็นความรู้สึกที่ดีได้อย่างไร

เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าเรากินอาหารในห้างทุกมื้อ กับเลือกกิน 2-3 มื้อต่อสัปดาห์

มื้อไหนที่จะสร้างความสุข และความประทับใจให้เราได้มากกว่ากัน

แถมเงินยังเหลือติดกระเป๋ามากกว่าอีกด้วย ไม่จนกรอบก่อนสิ้นเดือนแน่ ถ้าวางแผนให้ดีๆ

นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ใครไม่เคยจนมาก่อนก็คงยากที่จะรู้ว่า ความจนมันน่ากลัวขนาดไหน

และนี่เองที่เป็นที่มาของสิ่งที่รุ่นพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราพยายามสอนอยู่เสมอ

แม้ว่าปัจจุบันหลายคน จะต่อสู้จนกลายมาเป็น คนร่ำรวยได้แล้วก็ตาม

ให้ลูกหลานรู้จักประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย เป็นพื้นฐานไว้ก่อน จากนั้นที่สำคัญคือ ต้องรู้จักคิดเพื่อต่อยอด

สร้างความก้าวหน้าขึ้นไปให้ได้ ถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตแบบ “คนจน” ในความหมายที่ว่า

คือให้ใช้จ่ายน้อยกว่าที่หามาได้“แบบนี้ไม่มีวันจน” แน่ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ ที่ใช้เงินมากเกินกว่าที่หามาได้

เรียกว่าใช้เงินแบบคนรวย ทั้งที่ไม่ใช่คนรวย คุณก็จะอยู่แบบจนๆ แบบนี้

และไม่มีวันเป็นคนรวยกับเขาได้ แม้ว่าเราจะเป็นคนยุคใหม่ ที่หันไปทางไหนก็มีแต่เรื่องของบริโภคนิยม

แต่อย่างไรก็ขอให้มีสติ รู้เท่าทันโลก ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป รู้ว่าตัวเราเองกำลังทำอะไรอยู่

รู้ว่าเราอยู่ในฐานะไหน รู้ว่าการใช้จ่ายของเรามากหรือน้อยเกินจำเป็น

ให้สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่ติดตัวเราไป ไม่ว่าจะที่ไหนๆ ในทุกๆ วัน เชื่อสิคะว่าคุณจะไม่มีวันจนค่ะ