12 วิธีที่หัวหน้าต้องใช้ เมื่อลูกน้องต่อต้าน ไม่เคารพ ไม่เชื่อฟัง

12 วิธีที่หัวหน้าต้องใช้ เมื่อลูกน้องต่อต้าน ไม่เคารพ ไม่เชื่อฟัง

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำเอาเจ้านายหรือหัวหน้างานปวดหัวไปตามๆ กันก็คือ

ลูกน้องไม่เชื่อฟังหรือลูกน้องไม่เคารพ เพราะนอกจากจะทำให้การทำงานยากขึ้นแล้ว

อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย ใครกำลังเจอเหตุการณ์แบบนี้ตามไปดูสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหานี้กันครับ

1. รักษาระยะห่าง

สาเหตุก็คือระหว่างคุณกับลูกน้องมีความสนิทสนมกันเกินไป

เช่น รู้เรื่องส่วนตัวกันและกัน ไปสังสรรค์ด้วยกันบ่อยๆ หลังเลิกงาน

หากเจอคนที่สามารถแยกแยะระหว่างเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวได้ก็ถือว่าโชคดีไป

แต่ถ้าหากเป็นคนที่เห็นคุณเป็นเพื่อนเล่นตลอดเวลา

ควรเริ่มรักษาระยะห่างกับเขาให้มากขึ้น ลดการพูดคุยเรื่องส่วนตัวให้น้อยลง

หากมีโอกาสก็ลองคุยกันตรงๆ น่าจะเข้าใจกันมากขึ้น

2. เข้าหาคนในทีมให้มากขึ้น

ในทางตรงกันข้ามหัวหน้าบางคนอาจจะมีระยะห่างกบลูกน้องมากเกินไป

เช่น พูดคุยกันเฉพาะเรื่องงาน หรือหัวหน้าเป็นฝ่ายสั่งให้ทำตามอย่างเดียว

ลองเข้าหาพวกเขาให้มากขึ้น โดยการชวนคุยเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องงาน

หรือแสดงความเอาใจใส่คนทำงาน เช่น ลองชวนคุยเรื่องความสนใจ

ความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งจุดนี้อาจจะเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนางานได้อีกด้วย

3. มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ถือเป็นอีกหนึ่งสกิลที่คนเป็นผู้นำควรมีในยุคนี้ เพราะคนทำงานมีความรู้สึกนึกคิด

บางวันอาจจะต้องจัดการงานเยอะหรือเจอปัญหามากมาย ที่ทำให้เกิดความกดดัน

หรือความเครียด และส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

หรือมีความจำเป็นที่จะต้องลาด้วยเหตุผลส่วนตัว ควรถามไถ่เหตุผลที่มาที่ไป

ยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา แทนการจับผิดหรือดุด่าว่ากล่าว

4. ลดบทบาทความสำคัญ

หากเจอลูกน้องอีโก้สูง ไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่ง หรือสั่งงานไปแล้วไม่ค่อยทำตาม

หลังจากนี้ค่อยๆ ลดบทบาทในทีมของเขาให้น้อยลง เช่น ไม่มอบหมายงานสำคัญๆ

หรือโปรเจกต์ใหญ่ๆ ให้ทำ แต่ให้เขารับผิดชอบงานง่ายๆ หรืองานเล็กงานน้อยให้เขาพอมีผลงานบ้าง

5. ไม่แทรกแซงงาน

หากมอบหมายงานให้ลูกน้องทำแล้ว ก็ควรไว้ใจให้พวกเขาได้รับผิดชอบ

และคุณก็คอยดูและอยู่ห่างๆ ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ระหว่างนี้อาจจะลองถามไถ่เป็นระยะ

เผื่อพวกเขากำลังมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ

6. เปิดใจรับฟังความคิดเห็น

นอกจากนี้หัวหน้าควรเปิดใจรับฟังฟีดแบ็กในการทำงาน ปัญหา

หรือความคิดเห็นของพวกเขา ไม่ยึดเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่เพียงอย่างเดียว

และหากมีการพูดคุยกัน ควรปล่อยให้พวกเขาพูดให้จบก่อน

ไม่ควรพูดแทรกหรือแย้งในทันที เพราะพวกเขาอาจจะมองว่าคุณปิดกั้น

หรือไม่ยอมรับฟังได้ ที่สำคัญควรแสดงความเอาใจใส่หรือห่วงใย

พวกเขาจากใจจริง ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง การแสดงออก สีหน้า น้ำเสียง และคำพูด

7. ไม่ตัดสินคนอื่น

หลายครั้งอาจจะพบว่า ผู้ที่เป็นหัวหน้ามีการวิพากษ์วิจารณ์งานของลูกน้องอย่างรุนแรง

และบางครั้งอาจมีการใช้คำหยาบคาบ นอกจากจะทำให้ลูกน้องไม่ฟังแล้ว

อาจจะทำให้ความสัมพันธ์และบรรยากาศการทำงานแย่ลงไปด้วย

ซึ่งอย่าลืมว่าประสบการณ์การทำงาน มุมมอง และความคิดของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

คงจะดีกว่าหากทำความรู้จักลักษณะนิสัยของคนในทีมและเข้าด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละคน

8. ยอมรับความผิดพลาดบ้าง

ในฐานะที่เป็นหัวหน้าก็ต้องการให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ แต่อย่าลืมว่า

มีหลายปัจจัยที่เกินการควบคุม บางครั้งคนในทีมก็มีการทำผิดพลาดกันบ้าง

การดุด่าหรือกล่าวโทษคนรับผิดชอบอาจทำให้มุมมองที่พวกเขามีต่อเราเปลี่ยนไปและฟังเราน้อยลง

คงจะดีกว่าหากหลังจากช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว ตัวหัวหน้าเองก็ควร

กลับมาทบทวนด้วยเช่นกัน เช่น เราวางแผนงานมาดีหรือยัง

ให้งานยากเกินไปหรือเปล่า เวลาในการทำงานน้อยเกินไปหรือไม่ พร้อมกับหาทางป้องกันไปด้วย

9. ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า คนใหม่ หรือคนสนิท ในเวลางานก็ควรปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

และให้ความยุติธรรมกับทุกคน ไม่ลำเอียงเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง

สามารถตักเตือนและสั่งได้ทุกคนเหมือนกัน ที่สำคัญควรปฏิบัติแบบเดียวกัน

ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่นำเรื่องส่วนตัวของลูกน้องไปพูดต่อ

10. ให้พวกเขาตัดสินใจงานเองบ้าง

ในฐานะหัวหน้าไม่ควรกุมอำนาจทั้งหมดไว้คนเดียว ควรปล่อยให้ลูกน้อง

หรือคนในทีมมีอำนาจในการตัดสินใจงานเองบ้าง ไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะผิดหรือถูก

แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นการกระทำที่ผิดพลาด

ก็ควรให้กำลังใจและกันรับผิดชอบ ดีกว่าคอยคำสั่งคุณเพียงฝ่ายเดียว

11. พูดคุยด้วยเหตุผล

หลายครั้งที่ลูกน้องไม่ยอมทำตามคำสั่งเพราะไม่เข้าใจว่า

ทำไมต้องทำหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนสิ่งที่ทำอยู่ ดังนั้นในการสั่งงาน

ควรอธิบายถึงความสำคัญหรือเหตุผลที่จำเป็นต้องให้พวกเขาปฏิบัติตามคำสั่งด้วยจะดีกว่า

12. แสดงความเป็นผู้นำที่ดี

สาเหตุหนึ่งที่ลูกน้องไม่เชื่อฟังเพราะขาดความเชื่อมั่น

เช่น เห็นว่าหัวหน้ามีประสบการณ์หรือมีอายุน้อยกว่า

ดังนั้นควรให้เวลาพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมั่นในตัวเรามากขึ้น

ด้วยการให้คำแนะนำที่ดี เป็นหัวหน้าที่พวกเขาเชื่อใจได้สามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง

หากลูกน้องไม่ให้ความเคารพ เชื่อฟัง หรือทำตามคำสั่ง

ก็ไม่ควรแสดงอาการโมโหหงุดหงิดหรือด่าทอ เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลง

แต่จะดีกว่าหากแสดงออกอย่างเหมาะสม

พร้อมลองนำวิธีการต่างๆ เหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับคนในทีม