การลาออกจากงาน เพื่อหางานใหม่ เป็นเรื่องปกติ ที่ทุกคนสามารถทำได้
แต่อย่าลืมว่า ในช่วงนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง
ที่ทำให้ใครหลายคนเลิกคิดเรื่องการลาออก และหางานใหม่ไปชั่วคราว
โดยเฉพาะคนที่ใช้เหตุผลว่า เบื่อ หรือ เกลียดงานที่ทำ คนที่เบื่องาน หรือเกลียดงาน
ที่กำลังทำอยู่ อาจกำลังมีความรู้สึกว่า ถ้าลาออกจากงานตอนนี้ มีโอกาสที่จะได้งานใหม่ที่ดีกว่า
มีเงินเดือนที่ดีกว่า รวมถึงได้สร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับชีวิต
แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ การเปลี่ยนงานอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้
นี่คือเหตุผล 6 ข้อ ควรคิด ก่อนลาออกจากงาน หากช่วงนี้คุณมีความรู้สึกว่าเบื่องานที่ทำ
ให้ลองพิจารณา 6 เหตุผล ที่จะช่วยให้คุณฉุกคิดได้ว่า การลาออกจากงาน อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของคุณในช่วงนี้
1. ไม่รู้เป้าหมายในอนาคต ว่าต้องการอะไรต่อไป
บางครั้งความรู้สึกว่า อยากเปลี่ยนงาน อาจเป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาลอยๆ
เพราะความเบื่อที่เกิดขึ้นจากความจำเจที่ต้องทำทุกวันๆ แต่ก็ยังไม่รู้ว่า ถ้าลาออกจากงานไปแล้ว
จะไปทำงานอะไรต่อ แสดงว่าคุณอาจยังไม่เหมาะที่จะลาออกจากงานในช่วงนี้
สิ่งที่คุณต้องคิดไว้ก่อนที่จะลาออกจากงานคือ ถ้าลาออกจากงานเดิมแล้ว งานใหม่จะทำอะไร รูปแบบงานเป็นอย่างไร
อาจจะยังไม่ต้องลงรายละเอียดมากๆ ก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องมีไกด์ไลน์ก่อน
ซึ่งการตั้งเป้าหมายของตัวเองในอนาคตจะเป็นการช่วยให้คุณสามารถรู้ได้ว่า
หากคุณต้องการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ คุณต้องทำอย่างไรบ้าง การตั้งเป้าหมายในอีกทางหนึ่ง
เป็นวิธีที่ช่วยให้คุณมีแรงบันดาลใจที่จะทำให้สำเร็จ ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในปัจจุบัน
นั่นก็คือหมายถึงหน้าที่การงานที่ดีกว่าตามความต้องการที่ตั้งไว้ ซึ่งในทางกลับกัน
หากคุณลาออกจากงานโดยที่ยังไม่รู้เป้าหมายว่างานต่อไปอยากทำอะไร
จะทำให้คุณรู้สึกเบื่อ รู้สึกไร้เป้าหมาย รวมถึงรู้สึกว่าคุณค่าในตัวคุณเองลดลง
2. อย่าลาออกเพราะอยากมีเวลาว่างเพื่อหางานใหม่
การลาออกเพราะอยากมีเวลาว่างในการหางานอย่างเต็มที่ คงไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่ในยุคนี้
เพราะในความจริงแล้ว เวลาว่างเพื่อหางานใหม่มีอยู่เสมอโดยไม่ต้องคิดลาออกจากงานก็ได้
ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้าก่อนเข้างาน ใช้เวลาในขณะเดินทางไปทำงาน ช่วงเย็น
หรือในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็สามารถหางานใหม่ได้เช่นกัน การลาออกจากงานเพื่อหวังมีเวลาว่างมากขึ้น
เวลาว่างที่มีมากจนเกินไปจะทำให้ประสิทธิภาพในการหางานลดลง
เพราะบางครั้งเวลาว่างจะทำให้เราขาดความกะตือรือร้น จนใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ใช้เวลาไม่คุ้มค่า
ซึ่งบางครั้งการหางานใหม่อาจทำให้คุณรู้สึกว่างานเดิมของคุณเป็นที่น่าพอใจมากอยู่แล้ว
และหากเปลี่ยนงานใหม่ อาจทำให้คุณพลาดสิ่งดีๆ ที่งานเก่าของคุณเคยมีให้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
ซึ่งหากลาออกจากงานไปตั้งแต่แรก ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้งานดีๆ แบบเดิมกลับมา
3. ได้เงินเดือนมาก แต่ก็ยังไม่พอใช้
ทางแก้อาจไม่ใช่การหางานใหม่ บางครั้งฐานเงินเดือนที่ได้รับก็ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบในตำแหน่งงาน
แต่บางคนอาจมีความรู้สึกว่าเงินเดือนที่ได้ไม่คุ้มกับความรับผิดชอบที่มี
ก่อนที่จะคิดลาออกจากงานเพราะเหตุผลเรื่องเงินค่าตอบแทน
ควรลองคิดดูก่อนว่าเงินเดือนที่ได้น้อยไม่คุ้มค่าเหนื่อยจริงๆ หรือความจริงแล้ว
เป็นเพราะคุณใช้จ่ายมากเกินความจำเป็นจนรู้สึกว่าเงินที่ได้น้อยกว่าความเป็นจริง
ทางแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนคือการบริหารจัดการการใช้เงินของตัวคุณเองใหม่ก่อน
เพราะการลาออกไปหางานใหม่ที่ได้เงินเดือนมากกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าไม่ปรับการใช้เงิน
ไม่ว่าจะเปลี่ยนอีกกี่งานหรือได้เงินเดือนเพิ่มมากแค่ไหน ยังไงเงินก็ไม่พอใช้อยู่ดี
หรือถ้าสุดท้ายแล้วการปรับพฤติกรรมการใช้เงินยังไม่ช่วยแก้ปัญหา
ก็ให้ลองเจรจาต่อรองกับหัวหน้าเพื่อปรับเงินเดือนขึ้นก่อน แต่ให้การหางานใหม่ เป็นทางเลือกท้ายๆ จะดีกว่า
4. Connection สำคัญ อย่าออกไปโดยไม่มี
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า Connection เป็นสิ่งสำคัญทั้งการทำงานและการหางานใหม่
ดังนั้นอย่าคิดลาออกจากงานเก่าโดยไม่มี Connection ที่ดี เพราะ Connection ที่ดี
แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้คุณได้งานใหม่ในทันที แต่อาจมีประโยชน์ในฐานะคำแนะนำที่คุณอาจได้รับ
เช่น ฟีดแบคว่าคนที่คุณจะไปสัมภาษณ์งานด้วยมีลักษณะอย่างไร เป็นมิตรมากน้อยแค่ไหน
หรือต้องใช้วิธีการพูดอย่างไรเพื่อสร้างความประทับใจในการสัมภาษณ์งาน เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ได้งานง่ายขึ้น
ดังนั้นแล้วการสร้าง Connection เป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องค่อยๆ ทำ
และสะสมไปเรื่อยๆ เพราะคงดูไม่ดีแน่หากคุณเข้าไปตีสนิทกับคนบางคน
และนึกถึงเขาเมื่อต้องการประโยชน์อะไรบางอย่าง เพราะ Connection
ต้องใช้เวลาสะสมนานหลายปี รวมถึงคุณต้องให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆ ก่อนด้วยเช่นกัน
5. อย่าหางานใหม่โดยใช้อารมณ์
บางครั้งความรู้สึกที่อยากหางานใหม่มักเกิดจากความรู้สึกเบื่องาน และไม่พอใจงานที่ทำอยู่
จนกลายเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คุณตัดสินใจเปลี่ยนงาน แต่แน่นอนว่าความรู้สึกเบื่อ และไม่พอใจ
ย่อมสร้างอารมณ์ที่เป็นลบเมื่อพูดถึงงานที่ทำอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะในการสัมภาษณ์งาน
ที่ผู้สัมภาษณ์ก็ต้องถามว่าทำไมถึงลาออกจากงานที่ทำอยู่ ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน
ถ้าคุณอธิบายโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก อาจทำให้โอกาสที่ได้งานลดลง เพราะบริษัทต่างๆ
ย่อมอยากได้พนักงานที่มีความรู้สึกในแง่บวกมากกว่าอยู่แล้ว
หากคุณรู้สึกไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ อย่างแรกที่ควรทำคือลองพิจารณาดูก่อนว่าจริงๆ
แล้วคุณไม่พอใจเนื้องานที่ทำ หรือไม่พอใจปัจจัยอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานกันแน่
บางครั้งคุณอาจสามารถแก้ไขปัญหาความไม่พอใจได้ โดยไม่ต้องลาออกจากงานก็ได้
6. เปลี่ยนความไม่ชอบเป็นเครื่องมือปรับปรุงตัวเอง
บางครั้งการทำงานภายใต้ปัญหา และความรู้สึกไม่ชอบอาจกลายเป็นโอกาส
ที่คุณจะได้พัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ของตัวเอง ทั้งการสื่อสาร การต่อรอง
และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะได้จากการเจรจา และต่อรอง
รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน โดยบางครั้งหากการทำงานมีภาพรวมที่ดีขึ้น คุณอาจไม่จำเป็นต้องคิดหางานใหม่อีกแล้วก็ได้