1. รู้สึกว่าอยู่ต่อไปยังไงก็ไม่โต
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองไม่มีโอกาสก้าวหน้าในที่ทำงานเลย ก็ไม่แปลกที่จะนึกถึงเรื่องหางานใหม่
เพราะโอกาสในการก้าวหน้าคือเป้าหมายสำคัญในการทำงานของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา
ซึ่งโอกาสในการก้าวหน้าที่หมายถึงอาจไม่ใช่แค่การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว
แต่มันอาจจะหมายถึงการได้รับโอกาสใหม่ๆ เช่น การได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกต์ใหม่
ได้ทำสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน หรือได้เรียนรู้งานจากระดับหัวหน้างาน
ยังไงก็ตามก่อนที่คุณจะรีบลาออกจากงานด้วยเหตุผลนี้
ลองเข้าไปคุยเรื่องนี้กับหัวหน้างานก่อนจะดีที่สุด
แต่ถ้าคุยแล้วยังดูไม่มีโอกาสล่ะก็ อย่ารอช้าที่จะลาออกมาหาที่ที่ให้โอกาสคุณก้าวหน้ามากกว่านี้
2. พูดคุยเรื่องงานในแง่ลบให้คนในครอบครัวฟัง
ช่วงเวลาสุขสันต์อย่างเวลาทานข้าวกับครอบครัว
จากที่เคยเป็นการพูดคุยเรื่องราวสนุกสนานในที่ทำงานของเรา วีรกรรมน่าสนุกของลูกที่โรงเรียน
และวางแผนไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุดยาว ที่จะมาถึง ถูกแทนที่ด้วยการถูกตำหนิ
และถูกต่อว่าจากที่ทำงานของเราเป็นหัวข้อหลัก แทรกด้วยพฤติกรรมที่ไม่ดีของเพื่อนร่วมงาน
วันแล้ววันเล่าที่คนในครอบครัวของเราได้รับฟังแต่เรื่องงานในเชิงลบ
หากสถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำและมีแนวโน้มว่าจะบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
เราอาจต้องเริ่มพิจารณาถึงงานของเราอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว
3. เบื่อและไม่อยากทำงาน
ภาพที่ทุกคนจำได้ว่าเราคือเบอร์หนึ่งในแผนกหายไป
ทุกวันนี้แค่จะเข็นให้งานเสร็จสักชิ้นในแต่ละสัปดาห์ยังยากเลย เพราะเราเริ่มเช็กโซเชียลทุกๆ สิบนาที
การทำงานกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่คิดถึง หมดความกระตือรือร้นและเบื่อหน่ายอยู่ตลอดเวลา
งานที่ได้รับมอบหมายมาถูกปล่อยค้างเอาไว้ ซึ่งนอกจากกระทบต่องานของตัวเองแล้ว
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังส่งผลให้เริ่มมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมงาน
เนื่องจากงานของเราช้าเกินกำหนดกระทบต่อระบบการทำงานในแผนก
หนักกว่านั้นคือการทะเลาะกับหัวหน้าจนทำให้รู้สึกว่า เราไม่สามารถควบคุมอะไรในการทำงานได้เลย
4. คิดถึงภาพตอนเกษียณ
ถ้าอยู่ๆ ก็จินตนาการภาพตัวเองปลดเกษียณ หยุดทำงานและนอนพักผ่อนอยู่บ้าน
บางคนถึงขั้นนับปี นับเดือน นับวันที่จะเกษียณจากงานที่ทำอยู่ตอนนี้เลย
เพราะในแต่ละวันนั้นไม่ได้มีแรงจูงใจให้อยากไปถึงที่ทำงาน
ไม่ได้มี Passion ที่อยากจะสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าออกมา
ชีวิตการทำงานหมดไปกับงานที่ทำแบบส่งๆ เท่านั้น ก็อาจจะถึงเวลาที่เราต้องเริ่มมองหาทางใหม่ๆ ได้แล้ว
เพราะการนิ่งดูดายต่อเวลาที่ผ่านไปแบบนี้ ไม่สามารถช่วยให้ความหวังที่จะเกษียณเป็นจริงได้แน่นอน
5. เริ่มมองหางานใหม่
ถ้าเว็บที่เราเข้าเริ่มเปลี่ยนเป็นเว็บไซต์หางาน เริ่มพิมพ์คำว่า “หางาน”
ลงไปใน Search Engine พร้อมเคาะปุ่มเอ็นเทอร์
นั่นเท่ากับว่าเราผ่านจุดสุดท้ายของความอดทนในงานปัจจุบันไปแล้ว และหากทุกวันมีแต่คำว่า
“ฉันจะหางานใหม่” แวบเข้ามาในความคิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
อาจไม่เป็นการดีที่เราจะใช้ชีวิตด้วยการทนทำงานที่ไม่สร้างความสุขแบบนี้ต่อไป
ซึ่งนอกจากจะเป็นผลเสียต่อตัวเองแล้ว ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน รวมถึงบริษัทก็ต่างได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
6. ระบบชีวิตพัง
จากที่เคยเป็นคนนอนหลับง่าย กลายเป็นคนนอนไม่หลับ ตื่นมากลางดึกบ่อยๆ
เพราะต้องเก็บเอาความเครียดจากเรื่องงานไปนอนฝัน นี่คือจุดเริ่มต้นของระบบชีวิตที่แปรปรวน
หนำซ้ำบางคนจากที่เคยสุขภาพ แข็งแรงกลับมีอาการป่วยบ่อยขึ้น
ซึ่งการป่วยทางกายนี่แหละที่เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งได้เช่นกันว่าสุขภาพจิต
ของเราอาจจะกำลัง แย่ไปด้วยนอกจากนี้หากงานรบกวนความคิดจนทำให้ทุกๆ เย็น
ต้องนัดเพื่อนออกไปสังสรรค์เพื่อให้หายเครียด จนเริ่มมีสโลแกนติดปากในหมู่เพื่อนว่า
“ดื่มเพื่อให้ลืมงาน” ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นแล้วว่างานนี้อาจจะไม่เหมาะกับเราอีกต่อไป
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ถึงจะรู้สึกว่ามีหลายสัญญาณที่ตรงกับเราแล้ว
ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจลาออกจากงาน ทางที่ดีกว่าคือการเริ่มตรวจสอบตัวเอง
พิจารณาว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาอะไร เราแก้ไขให้มันดีขึ้นได้ไหม
เพราะหากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากตัวเราเอง
ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานอีกกี่แห่งปัญหานี้ก็ไม่หายไป ค่อยๆ วางแผนและตัดสินใจอย่างรอบคอบ
เชื่อว่าทุกคนสามารถกลับมามีความสุข สร้างสมดุลทั้งชีวิตและการงานในอนาคตได้อย่างแน่นอน