จากสติถิของคนส่วนใหญ่ หลังจากเกษียณอายุหลังวัย 60 ปี ไปแล้วนั้นพบว่า ร้อยละ 97 ประสบปัญหา
ทางด้านการเงิน มีเงินไม่พอใช้ หรือใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น หรือบางคนอยู่ได้ ด้วยเงินเกษียณ
แต่เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่สูงขึ้น ค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็ทำให้อะไรๆ ดูมีราคาแพงไปซะหมด
พอป่วย กันทีนึงนี่ต้องเดือดร้อนถึงกับขายทรัพย์สิน ที่เคยสะสมเอาไว้อยู่มาใช้
แต่ในขณะที่คนอีก 3% นั้น กลับมีการเงินที่ดี เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตัวเอง ในบั้นปลายชีวิต
ทีนี้เราลองมาดูเหตุผลกันว่า เพราะอะไรและเหตุใด ทำไมคนส่วนใหญ่จึงมีเงินไม่พอใช้ในวัยหลังเกษียณ
เหตุผลข้อที่ 1.คุณคิดว่า เงินนั้นไม่สำคัญต่อชีวิตสักเท่าไหร่นัก
คุณคงเคยได้ยินประโยค สุดคลาสสิคที่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่องเงินคือ “เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต”
หรือ “เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของฉัน” และคนส่วนใหญ่ ที่พูดและคิดในทำนองนี้ก็คือ คนที่ไม่มีเงิน
ซึ่งถูกส่วนหนึ่ง เพราะเงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่เงินสำคัญต่อการดำรงชีวิต
โดยเฉพาะในโลกมนุษย์นี้ เพราะการเงินทำให้โลกก้าวไปข้างหน้า การมีเงินทำให้คุณสามารถดูแลครอบครัวและคนที่คุณรักได้
การมีเงินทำให้คุณรู้สึกปลอดภัย การมีเงินทำให้คุณอยู่อย่างสุขสบาย
ซึ่งตัวเงินจริงๆ นั้น มันมีหน้าที่เปรียบเสมือนกับเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้อะไรๆ ต่อมิอะไรบนโลกใบนี้ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทีนี้ หากคุณยังนึกภาพไม่ออกว่าไอ้การที่พูดหรือคิดว่า “เงินมันไม่สำคัญต่อชีวิต ฉันเลยสักกะนิด”
โดยให้ลองเปลี่ยนการพูดแบบนี้กับเงินไปพูดกับคนที่คุณรักดู ไม่ว่าจะเป็น แฟน เพื่อน ครอบครัว
แล้วพูดกับพวกเขาว่า “เธอไม่สำคัญกับชีวิตฉันเลยสักกะนิด” สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่ช้าก็เร็ว พวกเขาก็จะตีออกห่างจากคุณ
และเช่นเดียวกันกับกรณีของเงิน หากพูดหรือคิดเช่นนั้นกับเงิน สุดท้ายแล้ว เงินก็เลือกที่จะอยู่กับคุณไม่นาน
แล้วพวกมันก็จากไป และในท้ายที่สุด คุณก็ได้กลายเป็นคนไม่มีเงินสมใจ
เหตุผลข้อที่ 2 .เพราะในโรงเรียนไม่เคยสอนคุณในเรื่องการเงินและความมั่งคั่งเลย
วิชาแรกๆ ที่คุณนึกถึง เมื่อตอนที่เข้าเรียนคือวิชาอะไรกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ เคมี ชีวะวิทยา ฟิสิกส์ ฯลฯ
แต่กลับไม่พบเลยว่า ในหลักสูตรมีการบรรจุเรื่องของ การเงิน ความมั่งคั่ง การลงทุน ฯลฯ
ทั้งๆ ที่วิชาในกลุ่มหลังนี้ เมื่อทุกคนเรียนจบไปแล้ว ต้องพบเจอกับมันแทบทั้งสิ้น
แต่ในขณะที่วิชากลุ่มแรก หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผมเรียนมาทำไมครับไม่เห็นได้ใช้สักกะติ๊ด”
เหตุผลเพราะ ระบบการศึกษา ในโรงเรียนนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเล่นเกมชีวิตแบบรัดกุม
และจบมาเพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ทำตามคำสั่ง กฏระเบียบของที่ทำงานเป็นอย่างดี
โดยคุณจะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า คนที่เรียนเก่งๆ เรียนจบสูงๆ แต่กลับไม่รวยสักกะที
เช่น ศาตราจารย์, ดอกเตอร์หรือคุณครู หรือคนเก่งๆ ที่เข้าไปทำงานในองค์กรใหญ่ๆ
กลับเป็นลูกน้อง ของคนที่เรียนโคตรห่วยในโรงเรียน (แต่พวกเขาฉลาดมากในการเรียนรู้นอกห้องเรียนและในชีวิตจริง)
นั่นเพราะหลักสูตรในโรงเรียนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนให้คนมีความมั่งคั่งนั่นเอง
เหตุผลข้อที่ 3. คนในครอบครัวไม่เคยสอนเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ว่าพวกมันทำงานกันยังไง
เรื่องนี้ หนีไม่พ้นแม้กระทั่ง ลูกคนรวยที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบที่พ่อแม่อวยอย่างกับไข่ในหิน
เลี้ยงด้วยเงินเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สอนวิธีคิด วิธีใช้เงินอย่างถูกต้อง นั่นอาจเป็นเพราะพ่อแม่ของคุณ
รักคุณมากจนเกินไป จนทำให้ปรนเปรอลูกด้วยเงินแบบเต็มเหนี่ยว
โดยไม่อยากให้ลูกๆ ลำบากเหมือนเมื่อตอนที่ พวกเขายังไม่รวย
แต่หารู้ไม่ว่า นั่นก็ไม่ต่างกับสุภาษิตไทยที่ว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ความหมายโดยสรุปก็คือ
อวยลูกตนเองมากเกินไป จนทำให้สิ่งที่ลูกตนเองทำผิดก็กลายเป็นถูก
และเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นผู้ใหญ่ในสังคมก็กลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในที่สุด
เหตุผลข้อที่ 4. คุณไม่เคยถูกสอนให้หาเงินจากช่องทางอื่นเลยนอกจากงานประจำ
คำสอนที่เรามักจะคุ้นเคยกับที่ครอบครัว สอนกันมาก็คือ ตั้งใจเรียน เรียนเก่งๆ ทำเกรดให้ได้ดีๆ
เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว ก็จะได้มีโอกาสหางานดีๆ เงินดีๆ จากบริษัทใหญ่ๆ ทำ แต่ในขณะที่ บนโลกใบนี้ มีวิธีการหาเงินได้เป็นล้านวิธี
ซึ่งหลักการที่เหมือนกันทุกวิธีเลยก็คือ การซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่มีคุณค่าที่คุณสร้างขึ้น
แล้วผู้คนก็ยินดีที่จะใช้เงินเพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน กับสินค้าหรือบริการที่คุณมีนั่นเอง
ไม่ว่าสินค้าหรือบริการของคุณจะเป็น แรงงาน สินค้า บริการ ไอเดีย ทักษะ ฯลฯ
เหตุผลข้อที่ 5. สื่อหลักและการโฆษณาต้องการให้คุณเป็นผู้บริโภคโดยสมบูรณ์
สื่อและการโฆษณา ในกระแสหลักนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค
ทั้งๆ ที่ตัวผู้บริโภคเองนั้น กลับซื้อในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ
ซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่ง ซื้อในสิ่งที่คุณไม่ชอบแต่เพียงเพื่อให้คนอื่นชอบคุณด้วยซ้ำไป
จนถลำลึกไปถึงขั้นที่ว่าหาก ณ ตอนนี้คุณไม่มีเงินสด คุณก็สามารถใช้บัตรเครดิตรูดไปก่อนได้แล้วค่อยชำระ
เมื่อเงินเดือนออก และเมื่อไหร่ก็ตาม ที่คุณชำระเงินไม่ทันสิ้นเดือน จนกระทั่งขอผัดผ่อนเป็นการชำระเงินขั้นต่ำแทน
ทีนี้ดอกเบี้ยที่คุณถูกรีดจากบัตรเครดิต ก็ทำให้คุณโงหัวแทบไม่ขึ้น หลายคนมีบัตรเดียว ยังไม่หนำใจ
ต้องมีบัตรที่สอง บัตรที่สาม บัตรที่สี่ วนเวียนกันไปจนกลายเป็นหนี้แบบไม่รู้จบ
ทีนี้หนักเข้ามัน ก็จะลามไป ถึงการเอารถ เอาบ้านไปจำนอง เพื่อนำเงินมาหมุนหนี้บริโภค
คุณก็กลายเป็นหมากตัวหนึ่งของเกมการเงิน ของสถาบันการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และคุณเองก็คือคนที่สร้างผลกำไรจากดอกเบี้ยที่พวกเขาคิดจากคุณอีกทีนั่นเอง
เหตุผลข้อที่ 6. คุณมีทัศคติที่ไม่ดีกับคนรวย
ซึ่งการมีทัศคติที่ไม่ดีกับคนรวยนั้น คุณอาจจะรับรู้จากสื่อมีเดียต่างๆ ผ่านทางโฆษณา ละคร ภาพยนตร์
ว่าตัวโกงมักจะเป็นคนรวยอยู่เสมอ หรือไม่คุณก็ไม่ยิน มาจากครอบครัว เพื่อนฝูง ว่าคนรวยไม่ดี
คนรวยตะหนี่ขี้เหนียว คนรวยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น คนรวยเป็นคนเลวทั้งนั้น
และร้อยทั้งร้อยกับคนที่พูดหรือคิดในทำนองนี้ พวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นคนถังแตกกันแทบทั้งสิ้น
เพราะจริงๆ แล้ว เงินเปรียบเสมือน เครื่องมือชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ใช้แสดงตนหรือส่งสารของผู้ใช้ไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหาก คนใช้เป็นคนไม่ดี เงินก็จะช่วยให้พวกเขาทำเรื่องไม่ดี ได้อย่างมหาศาล
แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้ใช้เงินเป็นคนดี เงินก็จะทำให้พวกเขา ทำดีได้อย่างมหาศาลเช่นกัน
ซึ่งคำถามแรกที่คุณควรถาม กับตนเองก่อนก็คือ “คนรวยเป็นคนไม่ดีจริงๆ หรือ
และหากคำตอบของคุณคือ คนรวยเป็นคนไม่ดี ชาตินี้คุณก็จะไม่มีวันรวย
เหตุผลข้อที่ 7. คุณไม่มีความรับผิดชอบต่ออนาคตทางเงินของตัวคุณเอง
หากตอนนี้ การเงินของคุณมันห่วย แถมคุณยังชี้นิ้วโทษคนนู้นคนนี้ ว่าเป็นเหตุที่ทำให้คุณยากจนข้นแค้น
โทษรัฐบาลว่าห่วยแตก โทษเศรษฐกิจไม่ดี โทษคนในครอบครัว โทษเพื่อนร่วมงาน โทษหมา โทษแมว
โทษฟ้าโทษฝน แต่กลับไม่เคยคิดจะโทษตัวเองเลย เพราะทุกครั้งที่คุณยกมือขึ้นชี้นิ้ว ด่าคนอื่นอยู่นั้น
ในมือของคุณกลับมีอีกตั้งสามนิ้วที่ชี้มาหาตัวคุณเอง ดังนั้น หากการเงินวันนี้ของคุณมันห่วย
นั่นเป็นเพราะความรู้ ทางการเงินของคุณมันห่วยเองต่างหาก และเมื่อคุณรับรู้ว่าตนเองมันห่วยเรื่องการเงิน
สิ่งที่คุณจะตระหนักได้ก็คือ ถ้าเช่นนั้น ตัวเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องการเงินให้มากขึ้น เรียนรู้ช่องทางการเงินด้วยวิธีใหม่ๆ
เรียนรู้การบริการการเงิน เรียนรู้การออมเงิน เรียนรู้การนำเงินไปลงทุน
แต่หากคุณยังบ่นอีกว่า ทุกวันนี้ทำงานหาเงิน ก็แทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว
ทีนี้คำถามที่คุณ ควรถามตัวเองก็คือ หากวันนี้คุณยังมีเวลาเล่นเกม ดูหนังอยู่ นั่นแสดงว่าคุณยังมีเวลาเหลืออยู่
แต่คุณเลือกที่ใช้ ไปกับอย่างอื่นแทนมากกว่า ซึ่งคุณไม่จำเป็นที่จะต้องงดดูหนัง งดเล่นเกม
เพียงแต่ให้คุณจัดสรรเวลาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการเงินให้มากกว่ากิจกรรมยามว่าง
แล้วลองดูผลลัพธ์ว่า ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไป ดีขึ้นจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับตัวคุณเองในอดีตที่ผ่านมา
ที่ไม่เคยสนใจหาความรู้ในเรื่องเงินมาก่อนเลย และหากคุณหลีกเลี่ยง และสามารถแก้ไขปัญหาทั้ง 7 ข้อนี้ได้
คุณก็เข้าใกล้การเข้าสู่ การเป็นคนในกลุ่มของ 3% ที่มีฐานะทางการเงินและความมั่งคั่งได้เช่นเดียวกัน